๓๒๗. ของมีค่า ๓ อย่าง
ปถพฺยา ตีณิ รตนานิ, สงฺคหานิ มหีตเล;
สิปฺปํ ธญฺญญฺจ มิตฺตญฺจ, ภวนฺติ รตนา อิเม.
ในปถพีนี้มีสิ่งมีค่า ๓ อย่าง
ที่สมควรรวมรวมไว้บนพื้นแผ่นดิน
คือ ศิลปะความรู้ ๑ ทรัพย์ ๑ และ
มิตรสหาย ๑ ทั้งสามเหล่านี้เป็นของมีค่า.
(ธรรมนีติ ทุกาทิมิสสกกถา ๓๒๗)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ปถพฺยา (ในแผ่นดิน, บนปถพี) ปถวี+สฺมึ อิต.
ตีณิ (สาม) ติ+โย นป. สังขยาสัพพนาม
รตนานิ (แก้ว, รตนะ, สิ่งมีค่า ท.) รตน+โย นป.
สงฺคหานิ (ถือเอาพร้อม, รวมรวม, สงเคราะห์) สงฺคห+โย
มหีตเล (บนพื้นแห่งแผ่นดิน, บนพื้นดิน) มหี+ตล > มหีตล+สฺมึ นป.
สิปฺปํ (ศิลปะ, ความรู้) สิปฺป+สิ นป.
ธญฺญญฺจ = ธญฺญํ+จ, ธญฺญํ (ธัญญพืช, ข้าวเปลือก, ทรัพย์) ธญฺญ+สิ, จ ศัพท์เป็นนิบาตบท ใช้ในอรรถปทสมุจจย รวมรวมบท
มิตฺตญฺจ = มิตฺตํ+จ, มิตฺตํ (มิตร, เพื่อน) มิตฺต+สิ
ภวนฺติ (ย่อมมี) √ภู+อ+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ.
รตนา (รตนะ, แก้ว ท.) รตน+โย ธรรมดา รตน ศัพท์เป็น นปุงสกลิงค์ แต่ในที่นี้ดูจะเป็น ปุงลิงค์ เพราะตัวขยายต่อไป เป็น อิเม ซึ่งเป็น ปุงลิงค์
อิเม (เหล่านี้) อิม+โย สัพพนาม, นป. เป็น อิมานิ, อิต. เป็น อิมา อิมาโย.
_________________
„ธญฺญ“ ศัพท์ มีความหมายหลายอย่าง ดังนี้
๑. ธญฺญมาส แปลว่า เมล็ดข้าวเปลือก ใช้เป็นเครื่องวัด ๗ เมล็ดข้าวเปลือก เป็น ๑ นิ้ว, ๑๒ นิ้ว เป็น ๑ คืบ (อภิธาน. ๑๙๕)
๒. ธญฺญตฺตจ แปลว่า แกลบ = ถุส (อภิธาน. ๔๕๓)
๓. ธญฺญกรณ แปลว่า ลานข้าว = ขล (อภิธาน. ๔๖๓, ๙๒๗)
๔. ธญฺญมฺพิล แปลว่า น้ำซาวข้าว = โสวีร, กญฺชิย(กญฺชิก), อารนาฬ, พิฬงฺค รวมเป็น น้ำซาวข้าว ๕ (อภิธาน. ๔๖๐)
๕. ธญฺญงฺค แปลว่า รำข้าว = กณ แปลว่า รำข้าว, ปริมาณน้อย (อภิธาน. ๑๐๔๗)
๖. ข้าวฟ่าง = กงฺคุ แปลว่า ข้าวฟ่าง, ต้นประยงค์ (อภิธาน. ๑๐๕๕)
๗. ข้าวเปลือก = กิฏฺฐ, สสฺส, วีหิ, ถมฺพกรี, ธญฺญ ข้าวเปลือก ๕ ศัพท์
๘. ธญฺญ นป. เป็นไปในข้าวสาลีเป็นต้น, ธญฺญ ค.(สามลิงค์) เป็นไปในผู้มีบุญ. (อภิธาน. ๑๐๐๗)
--
นักศีกษาพึงทราบว่า คาถานี้ท่านมิได้แปลไว้ในโลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป และทั้งใน ราชนีติ ธรรมนีติ ของ นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ก็ไม่ปรากฏเช่นกัน.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen