๓๒๑. อย่าโกรธตอบ
อุจฺฉาทเน นฺหาปเน จ, โธเต ปาเท อโธสิรํ;
อาหโตปิ น กุปฺเปยฺย, ส ราชวสตึ วเส.
ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท
ในเวลาผลัดพระภูษาทรงและสรงสนาน
แม้จะถูกบีฑาก็ไม่ควรโกรธตอบ
ราชเสวกนั้น ควรอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๒๑, ขุ. ชา ๒๘/๙๗๑ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อุจฺฉาทเน (ในการนุ่งห่ม, เปลี่ยนเสื้อผ้า) อุจฺฉาทน+สฺมึ
นฺหาปเน (ในการอาบ, การสรงน้ำ) นฺหาปน+สฺมึ, บาทคาถาแรกนี้ ในฉบับฉัฏฐสังคายนา เป็นกิริยาอาขยาต : อุจฺฉาทเย จ นฺหาปเย (พึงให้นุ่งห่มและพึงให้อาบ), ส่วนในฉบับสยามรัฐ เป็นนามกิตก์ : อุจฺฉาทเน จ นฺหาปเน (ในขณะนุ่งห่ม, และขณะอาบ)
จ (ด้วย, และ) นิบาต
โธเต (ล้าง, ซาว, ชำระแล้ว) โธต+สฺมึ เป็นกิตก์ ส่วนในพระบาฬีทั้งฉบับฉัฏฐสังคายนาและสยามรัฐ เป็น โธเว (พึงชำระ, อาบ, สรง)
ปาเท (เท้า, พระบาท) ปาท+สฺมี, เป็นลักขณวันตะใน โธเต. ถ้าเป็นกรรมใน โธเว ต้องเป็น ปาท+โย.
อโธสิรํ (ศีรษะสูง, ยกหัวขึ้น) (* เดิมเป็น อโทสิรํ จัดเป็นศัพท์ที่พิรุธ (ผิด) ได้แก้ใหม่เป็น อโธสิรํ ตามพระบาฬี)
อาหโตปิ (แม้ถูกฆ่า, ถูกประหาร, ถูกกระทบแล้ว) อาหโต+อปิ ศัพท์เป็นอุปสัค หรือ นิบาต ก็ได้. ส่วน อาหโต มาจาก อา+√หน+ต > อาหต+สิ
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
กุปฺเปยฺย (พึงโกรธ, พึงกำเริบ) √กุป+ย+เอยฺย ทิวาทิ. กัตตุ.
ส ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
แม้ถูกกดศีรษะลงใต้ผ้านุ่งและในใต้ถุนที่อาบ
แลในบาทที่ล้างแล้วก็ดี ไม่พึงโกรธงุ่นง่าน
ผู้นั้น จึ่งอยู่ในราชสำนักได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เวลาผลัดพระภูษาและสรงสนาน
ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท
แม้ถูกกริ้วกราดหรือต้องพระราชอาญา
ก็อย่าบีฑาโกรธตอบ เป็นชอบธรรม.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen