๓๑๙. มีศีลไม่โลภ
สีลวา จ อโลโภ จ, อนุรุตฺโต จ ราชิโน;
อาวี รโห หิโต จสฺส, ส ราชวสตึ วเส.
ราชเสวกต้องเป็นคนมีศึล ไม่โลภมาก
ต้องคล้อยตามพระเจ้าอยู่หัว
และทำประโยชน์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๑๙, ขุ. ชา ๒๘/๙๗๑ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
สีลวา (ผู้มีศีล) สีล+วนฺตุ ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต > สีลวนฺตุ+สิ. วิ. สีลํ อสฺส อตฺถีติ สีลวา. (ผู้มีศีล ชื่อว่า สีลวา)
จ (ด้วย, และ) นิบาต
อโลโภ (ผู้ไม่โลภ) น+โลภ > อโลภ+สิ (ในฉัฏฐสังคายนา เป็น อโลโล, อรรถกถาแก้ว่า อลุทฺโธ ไม่หยาบ, ไม่โหดร้าย)
อนุรุตฺโต (ผู้กล่าวตาม, ผู้คล้อยตาม) อนุ+ร+อุตฺต > อนุรุตฺต+สิ (ฉัฏฐสังคายนา เป็น อนุรกฺโข (ตามรักษา, ตามคุ้มครอง, ในสยามรัฐ เป็น อนุวตฺโต ติดสอยห้อยตาม)
ราชิโน (ของ/แห่งพระราชา, ท้าวพญา) ราช+สิ
อาวี (ในที่แจ้ง, ที่ต่อหน้า) นิบาต
รโห (ในที่ลับ, ที่ลับหลัง) นิบาต
หิโต (เป็นประโยชน์, ประโยชน์เกื้อกูล) หิต+สิ
จสฺส = จ+อสฺส (พึงเป็น....ด้วย) ฉบับฉัฏฐสังคายนา เป็น ตสฺส)
ส ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ผู้ใดมีศีล ไม่มักได้ แลเอาใจใส่ต่อท้าวพญา
แลเป็นคนมีประโยชน์ทั้งในที่แจ้งที่ลับ ผู้นั้น
จึ่งอยู่ในราชสำนักได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก ต้องมีศีลาจารวัตรไม่เป็นคนอาสัตย์ธรรม
ไม่ละโมภเห็นแก่ได้ เอาใจออกหาก
พึงประพฤติตามเจ้าไม่เข้ากับคนผิด
มีความจงรักภักดีคงที่ทั้งต่อหน้าและลับหลัง.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen