ปมาทํ ภยโต ทิสฺวา, อปฺปมาทญฺจ เขมโต;
ภาเวถฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ, เอสา พุทฺธานุสาสนีฯ
"ท่านทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นทางเกษมแล้ว
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเถิด
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.“
(กวิทปฺปณนีติ ๓๓๕, ขุ. อป. ๓๒/๑, ขุ. จริยา. ๓๓/ตสฺสุทฺทาน)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปมาทํ (ความประมาท) ปมาท+อํ
ภยโต (โดยความเป็นภัย, -น่ากลัว) ภย+โต ปัจจัย
ทิสฺวา (เห็นแล้ว, เพราะเห็น) ทิส-เปกฺขเณ+ตฺวา+สิ
อปฺปมาทญฺจ = อปฺปมาทํ+จ, อปฺปมาท+อํ > อปฺปมาทํ (ความไม่ประมาท), จ (ด้วย, และ) สมุจจยตฺถนิบาต
เขมโต (โดยเป็นทางเกษม, -ปลอดภัย) เขม+โต ปัจจัย
ภาเวถฏฺฐงฺคิกํ = ภาเวถ+อฏฺฐงฺคิกํ, ภู-สตฺตายํ +เณ การิตปัจจัย +ถ ภูวาทิคณะ เหตุกัตตุวาจก แปลตามสำนวนวาจกว่า จงยังมรรค..ให้มี (ให้เป็น) แปลโดยอรรถว่า จงเจริญซึ่งมรรค.., จงเจริญมรรค.., อฏฺฐงฺคิก+อํ > อฏฺฐงฺคิกํ (ประกอบแล้วด้วยองค์แปด, มรรคมีองค์แปด) วิเสสนะของ มคฺคํ.
มคฺคํ (มรรค, ทาง) มคฺค+อํ
เอสา (นี้, นั่น) เอตา+สิ
พุทฺธานุสาสนี (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท.) พุทฺธานุสาสนี+สิ
——
ลองแปลทีละวลี :
ปมาทํ ภยโต ทิสฺวา, | เพราะเห็นความประมาทโดยความเป็นภัย
อปฺปมาทญฺจ เขมโต; | และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นทางเกษมแล้ว
ภาเวถฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ, | ท่านทั้งหลายจงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเถิด
เอสา พุทฺธานุสาสนีฯ | นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
คาถานี้กับอีกสองคาถาก่อน รวมเป็น ๓ คาถา มีอาคตสถานที่มาเดียวกัน ตามที่ได้แสดงไว้แล้วนั้นแล. เวลาท่องก็ควรท่องให้ครบทั้งสามคาถาเพื่อความสมบูรณ์ดุจกินยารักษาโรคครบชุด ฉะนั้น.